เยอรมนี เป็นประเทศที่สี่ที่ฉันได้มีโอกาสใช้ชีวิตใน “โลกไกลบ้าน” ต่อจากประเทศออสเตรเลีย สวิสเซอร์แลนด์ และสิงคโปร์ นับเป็นเวลาหนึ่งปีแล้วที่ฉันได้มาทำงานและใช้ชีวิตที่ “เมืองเบียร์”แห่งนี้
เมื่อก่อนฉันรู้จักเยอรมนีแค่ผิวเผิน เคยมีโอกาสเดินทางมาโฉบเฉี่ยวท่องเที่ยวแบบสั้นๆอยู่ก็หลายครั้ง และไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าจะมีโอกาสได้มาใช้ชีวิตที่นี่ ก่อนนั้นก็รู้มาว่าเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์เข้มข้น เคยมีผู้นำที่คนทั่วโลกรู้จัก มีสถาปัตยกรรมสุดอลังการ มีวัฒนธรรมอาหารที่ขึ้นชื่ออย่างขาหมู ไส้กรอก และเบียร์ แต่หนึ่งปีที่ผ่านมานี้ฉันได้รู้จักเยอรมนีและคนเยอรมันเพิ่มขึ้นมากมายจากการได้มาใช้ชีวิตจริงๆ…จึงอยากนำมาเล่าให้ฟังกันค่ะ
กำแพงภาษา…เยอรมันสุดหิน
วันแรกที่มาเยอรมนีฉันพูดภาษาเยอรมันไม่ได้เลย นอกจากคำว่า Guten Tag (สวัสดี), Danke (ขอบคุณ), และ Ich liebe dich (ฉันรักเธอ) ที่ฝึกมาเพื่อเอาตัวรอดในวันแรกๆ (วันแรกๆนี่คิดจะบอกรักแล้วเหรอ) ภาษาเยอรมัน…ที่แค่เงี่ยหูฟังก็สัมผัสได้ถึงความหินของภาษา ด้วยน้ำเสียงที่ออกมาจากลำคอ ฟังดูกระโชกโฮกฮากเหมือนคนทะเลาะกัน โชคดีที่ทำงานของฉันเป็นองค์กรนานาชาติ ภาษาอังกฤษจึงเป็นภาษาหลักที่ใช้ในการสื่อสารในองค์กร และเพื่อนร่วมงานชาวเยอรมันก็พูดภาษาอังกฤษในระดับที่ดีมากๆ ฉันเลยไม่มีปัญหาในการทำงานเลยทั้งยังได้พัฒนาภาษาอังกฤษไปด้วย (ฉันว่าคนเยอรมันพูดภาษาอังกฤษฟังง่ายที่สุดแล้ว ชัดเจน ชัดถ้อยชัดคำ)
แต่เมื่อออกมาสู่ชีวิตภายนอก กำแพงภาษาดูเหมือนจะเป็นปัญหาใหญ่ในการใช้ชีวิตช่วงแรกๆ โดยเฉพาะในช่วงที่ต้องลงหลักปักฐาน ติดต่อเรื่องบ้าน ติดต่อราชการ ติดตั้งโทรศัพท์อินเตอร์เนตต่างๆ เพราะที่นี่ไม่มีการใช้ภาษาอังกฤษเลย ฉันใช้เวลาเกือบสามเดือนกว่าที่ทุกอย่างจะลงตัวด้วยความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงานและเพื่อนที่นี่ รวมไปถึงความลำบากในการเดินทาง เพราะระบบขนส่งสาธารณะที่นี่ส่วนใหญ่ก็ไม่มีประกาศหรือป้ายภาษาอังกฤษเหมือนประเทศอื่นๆในยุโรป หรือในเมืองใหญ่ๆอย่างมิวนิคหรือเบอร์ลิน ฉันใช้บริการรถไฟเป็นหลักในการเดินทางที่นี่ วันไหนรถไฟดีเลย์ฟังประกาศไม่รู้เรื่อง ถามใครก็ไม่เข้าใจ จนตกรถไฟมาแล้วก็หลายครั้ง
ที่บริษัทมีคลาสให้เรียนภาษาเยอรมันฟรี แต่ไม่มีการบังคับว่าต้องเข้าเรียนหรือต้องสอบให้ผ่าน ฉันซึ่งเป็นคนที่ไม่ชอบเรียนภาษาและมีทักษะด้านภาษาต่างประเทศค่อนข้างน้อย ก็เริ่มไปเรียนกับเขาบ้าง ช่วงแรกๆก็ตั้งอกตั้งใจเรียนดี แต่เรียนไปสักพักก็เริ่มท้อ เริ่มหมดหวัง เพราะเป็นภาษาที่หินมากและไม่มีความเซ็กซี่ยั่วยวนชวนให้น่าเรียนเอาเสียเลย แถมยังต้องขาดเรียนบ่อยเพราะงานยุ่ง (แบ่งเวลาทำงานไปเรียน)และเดินทางเยอะอีก
ภาษาเยอรมันไม่เหมือนภาษาไทย ที่ไม่ว่าประธานจะเป็นใครก็สามารถใช้คำกริยาเดียวกันได้ อย่างคำว่า “รัก” จะใช้กับใครก็ได้… ฉันรักเธอ เธอรักฉัน พวกเรารักเธอ พอเป็นเยอรมันจะพูดแต่ละทีก็ต้องคิดว่าประธานคือใครแล้วเปลี่ยนคำกริยาตาม เช่น Ich liebe ditch (ฉันรักเธอ), Er liebt ditch (เขารักเธอ) หรือ Wir lieben ditch (พวกเรารักเธอ) ถ้าเป็นรูปประโยคในอดีตก็ต้องมาท่องกันใหม่อีก ที่ยากไปกว่านั้นคือคำศัพท์เยอรมันมีสามเพศ ทุกวันนี้ฉันก็ยังไม่เข้าใจว่า ทำไมโต๊ะต้องเป็นผู้ชาย ทำไมเก้าอี้ต้องเป็นผู้หญิง ทำไมเด็กผู้หญิงและทหารต้องเป็นเพศกลาง เคยเอ่ยปากถามครูไปว่าทำไม ครูบอกว่า ไม่มีคำตอบ แค่ต้องจำให้ได้…
ช่วงแรกๆก็พยายามฝึกพูดกับเพื่อนร่วมงานชาวเยอรมัน จนเขาคงสงสารบอกว่า “ไม่เป็นไร ยูพูดภาษาอังกฤษก็ได้” แต่ฉันก็ยังดื้อดึงอยากพูด พอเขาปล่อยเกียร์ว่างพูดเยอรมันกลับมาแบบรัวๆ จนสุดท้ายฉันบอกตัวเอง “ไอพูดภาษาอังกฤษก็ได้” และเมื่อมาได้อยู่ ได้ยิน ได้ฟังบ่อยๆ ฉันก็ได้รู้ว่า จริงๆแล้วคนเยอรมัน ก็มีทั้งคนพูดกระโชกโฮกฮาก พูดเพราะ พูดเบา พูดค่อย พูดเยอะ พูดน้อย เหมือนกับคนทุกที่ในโลก
หนึ่งปีผ่านไปความสามารถทางภาษาเยอรมันของฉันก็ไม่ได้พัฒนาไปไหนไกลจากวันแรกเลย ยังคงพูดสื่อสารกับใครไม่ค่อยได้ ได้แค่ประโยคสั้นๆง่ายๆ แต่อาจจะฟังได้มากขึ้น แม้จะฟังได้ไม่เต็มประโยค ฟังออกแค่เป็นคำๆ แต่อย่างน้อยตอนนี้ก็ฟังประกาศที่สถานีรถไฟพอรู้เรื่องและไม่เคยตกรถไฟอีก
เสือยิ้มยาก
หลายครั้งภาพของคนเยอรมันในโลกภาพยนต์ฮอลลีวูดหรือสื่อต่างๆ ทำให้เรารู้สึกว่าคนเยอรมันเย็นชาและไม่ค่อยเป็นมิตร หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Cold and unfriendly เมื่อก่อนฉันก็เหมารวมคนเยอรมันแบบนั้นจากประสบการณ์ที่เคยร่วมงานกับคนเยอรมันมาบ้างแล้ว และเมื่อได้มาใกล้ชิดทำความรู้จัก ก็ยังคงยืนยันว่าคนเยอรมัน(ดูเหมือน)จะเย็นชาและไม่เป็นมิตร เพียงเพราะพวกเขาเป็นเสือยิ้มยาก ไม่ค่อยทักทายใครก่อน เป็นทางการ ความตรงไปตรงมาและเป๊ะเวอร์ของคนเยอรมัน อาจจะทำให้ทุกอย่างขาดอารมณ์ไปบ้าง แต่ก็ทำให้ทุกอย่างจบง่าย ตรงประเด็น ไม่อ้อมค้อม เมื่อรู้จักจนกลายเป็นเพื่อนหรือสนิทกันมากขึ้น ก็จะรู้ว่าแท้จริงแล้วคนเยอรมันจิตใจดี มีน้ำใจ และรักใครรักจริง ประมาณว่าเข้าถึงยาก แต่ถ้าเราเข้าถึงเขาได้แล้ว เขาก็จะรับเราแบบสุดหัวใจไม่มีกั๊กเลยทีเดียว
และที่แปลกอีกอย่างคือ เวลาทำงานคนที่นี่จะดูจริงจังไม่เล่นไม่เฮฮา แต่เมื่อถึงเวลาปาร์ตี้หรือช่วงงานเทศกาล/คาร์นิวัลต่างๆ คนเยอรมันก็จะสนุกสุดเหวี่ยงบ้าบอได้มากๆเหมือนกัน วัฒนธรรมการแฮงเอาท์ของคนเยอรมันมักพบปะกันตามบ้านหรือปาร์ตี้ คำว่า “เพื่อน” ของคนเยอรมันจึงไม่ใช่แค่การรู้จักกันสองสามนาทีแล้วแอดเฟรนด์ในเฟสบุ๊ค แต่ถ้าเขายอมรับใครสักคนเป็นเพื่อนแล้ว เขาจะเปิดจนสุด
หนึ่งปีผ่านไป ฉันเริ่มเห็นเสือยิ้มยากหลายคนส่งยิ้มกลับมาทุกครั้งที่เจอกัน เริ่มเพิ่มระดับความใกล้ชิดจากการสัมผัสมือทักทายในวันแรกที่ได้พบ เปลี่ยนเป็นการสวมกอดที่ช่วยเพิ่มความอุ่นใจขึ้นเล็กน้อย (คนเยอรมันจะไม่จุ๊บแก้มทักทายแบบชาวยุโรปอื่นๆ นอกจากสนิทกันมากๆจริงๆ) แต่ถึงอย่างนั้น ฉันก็ยังแทบไม่ค่อยมีภาพถ่ายกับเพื่อนเยอรมันที่นี่เลย บางครั้งรู้สึกว่าการถ่ายรูปของคนที่นี่เป็นเหมือนสิ่งต้องห้าม ทุกคนดูหวงแหนความเป็นส่วนตัว หรือเราอาจต้องใช้เวลาด้วยกันมากกว่านี้ก่อน
Work – Life Balance: ชีวิตที่สมดุล
บทเรียนแรกๆในการมาทำงานที่ประเทศเยอรมนีก็คือ ความตรงต่อเวลา ซึ่งนับว่าเป็นกฏเหล็กที่เจ้านายได้ทำข้อตกลงกันไว้ตั้งแต่เริ่มงานวันแรกทีเดียว คนเยอรมันให้ความสำคัญกับเรื่องเวลามาก ไม่ใช่เพียงแต่ต้องตรงเวลาทั้งในที่ทำงานและการใช้ชีวิตทั่วไป แต่ยังรวมถึงการใช้เวลาในชีวิตให้คุ้มค่าและสมดุลอีกด้วย
ฉันมักคุยตลกกับเพื่อนที่ทำงานชาวเยอรมันและฝรั่งเศสอยู่บ่อยๆ เพราะฝรั่งสองชาตินี้ช่างแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ครั้งหนึ่งเคยนัดเพื่อนมาเที่ยวที่บ้าน เพื่อนคนเยอรมันจะรอจนกว่าถึงเวลานัดเป๊ะๆถึงจะกดกริ่งประตูบ้าน ไม่เร็วไม่ช้ากว่าเวลาที่นัดไว้ ยอมยืนตากแดดตากฝนตากลมหน้าบ้านไป สาย 5 นาทีคือลิมิตที่คนเยอรมันยอมรับได้ ส่วนเพื่อนฝรั่งเศสก็จะมองว่าการมาสายสิบห้านาทีเป็นเรื่องปกติมาก จะนัดกับเขาก็ต้องเผื่อใจเผื่อเวลาตรงนี้ไว้
ในเวลางานคนเยอรมันจะตั้งใจจริงจัง ไม่วอกแวกเช็คมือถือเล่นเฟสบุ๊คเลย อาจจะมีพักจิบกาแฟหรือสูบบุหรี่บ้าง (และเขามักคิดว่าการติดเฟสบุ๊คหรือโซเชียลมีเดียเป็นเรื่องตลก) แต่งานคืองาน และนั่นก็ทำให้คนที่นี่ทำงานมีประสิทธิภาพมาก ฉันเริ่มคุ้นชินกับการทำงานร่วมกับคนที่นี่ นับเป็นความท้าทายกับประสิทธิภาพในการทำงานของเราเหมือนกัน ที่ประทับใจที่สุดก็คือ ทุกคนจะรู้หน้าที่และมีความรับผิดชอบกับงานของตัวเอง แทบจะไม่ต้องจอยจิกคอยตามทวงงานกันเลย แต่นั่นก็หมายความว่า ตัวเราเองก็ต้องเพิ่มความรับผิดชอบเพราะทุกคนก็คาดหวังที่จะได้รับงานจากเราตรงเวลาตามที่ตกลงกันไว้เหมือนกัน อีกความท้าทาย คือ “การท้าท้ายหรือ challenge” คนที่นี่ (รวมถึงชาวยุโรปโดยทั่วไป) จะไม่คิดอะไรเพียงด้านเดียว แต่เขามักจะวิเคราะห์ คิดหาเหตุผล ตั้งคำถาม ไม่เชื่อทฤษฎีง่ายๆจนกว่าจะพิสูจน์ด้วยตัวเอง ดังนั้นทุกครั้งที่ฉันคุยงานกับหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงาน ต้องมีการวางแผนล่วงหน้า เตรียมแผนสอง แผนสาม เพราะเขาจะท้าทายและตั้งคำถามตลอดว่า ถ้าแผนหนึ่งไม่ได้ผลจะทำอย่างไร ถ้าแบบนี้ไม่ดีจะทำอย่างไร คิดด้านนี้หรือยัง คิดด้านนู้นหรือยัง อยู่ที่นี่สมองได้ทำงานหนักมาก
ที่นี่ฉันได้มีโอกาสได้ทำงานกับรุ่นน้องและเด็กฝึกงานค่อนข้างเยอะ ต้องยอมรับเลยว่าเด็กฝึกงานที่นี่ทำงานเก่งกว่าคนไทยบางคนที่ทำงานมาหลายปีเสียอีก อาจจะเป็นเพราะระบบการศึกษาและวัฒนธรรมที่ปลูกฝังให้รู้จักคิดวิเคราะห์และตั้งคำถาม ในระดับมหาวิยาลัยก็มีการบังคับให้ฝึกงานกันเป็นปีๆ มีโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศหรือแลกเปลี่ยนโปรเจคกับองค์กรใหญ่ๆ เด็กฝึกงานที่นี่จึงได้รู้จักคิด ทำงานจริง และหาเงินด้วยตัวเองกันตั้งแต่อายุน้อยๆ ไม่ใช่แค่เป็นเพียงเด็กถ่ายเอกสารเหมือนเด็กฝึกงานบ้านเรา เมื่อฝึกงานจบ น้องๆเหล่านี้ก็มักจะออกเดินทางท่องโลก เรียนรู้โลกกว้างจากนอกห้องเรียน ให้รางวัลชีวิต ก่อนจะกลับไปเรียนต่อหรือสมัครงานจริง
สำหรับคนวัยทำงานที่เริ่มสร้างครอบครัว พวกเขาก็จะมีการแบ่งเวลาที่ชัดเจน เรียกว่าเวลางานก็ทุ่มเทเต็มที่ หลังเลิกงานก็มีเวลาให้ตัวเอง เช่น ออกกำลังกาย หรือให้เวลาทำกิจกรรมกับครอบครัว ไม่เอางานกลับไปทำต่อที่บ้านและไม่ทำงานในวันหยุด (รวมถึงไม่โทรตามงานหรือคุยเรื่องงานในวันหยุดด้วย) การฝึกใช้ชีวิตอย่างสมดุลหรือการมี Work – Life balance ที่ดีเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ฉันรู้สึกสนุกกับการทำงานที่ต่างประเทศ
วัฒนธรรมเบียร์
ภาพพจน์ของเยอรมนี คือดินแดนแห่งเบียร์ ไส้หรอก ขาหมูและผักดอง จริงๆแล้วคนเยอรมันก็ไม่ได้ทานอาหารเหล่านี้กันทุกวัน เหมือนที่บ้านเราไม่ได้กินต้มยำกุ้งหรือผัดไททุกวันเช่นกัน แต่คงมีข้อยกเว้นสำหรับเบียร์ เพราะเขาดื่มกันแทบทุกมื้อ ทุกวัน แม้กระทั่งตอนเช้า (ถ้าที่ทำงานอนุญาตให้ดื่มเบียร์ได้ คงได้เห็นคนที่นี่นั่งจิบเบียร์ไปทำงานไป) และที่นี่เบียร์บางยี่ห้อยังถูกกว่าน้ำแร่หรือน้ำอัดลมเสียอีก
หลายๆเมืองในเยอรมนีจะมีโรงเบียร์เป็นของตัวเอง รสชาติของเบียร์ในแต่ละเมืองก็จะแตกต่างกันไปตามวัตถุดิบ ภูมิภาคและอุณหภูมิ โรงเบียร์ที่นี่จึงเป็นเหมือนสถานที่แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมมากกว่าถูกมองว่าเป็นสถานที่อโคจร
เวลาดื่มเบียร์กับคนที่นี่ ก็อย่าเผลอแอบจิบเบียร์ก่อนเพื่อน ต้องพูดว่า Prost! (โพรสท์) พร้อมจ้องตากันก่อนตามมารยาท และห้ามชนแก้วข้ามมือไขว้แขนกันไปมาเป็นอันขาด เพราะจะถือว่าเป็นการเสียมารยาทมากๆ หากสนใจอยากเรียนรู้วัฒนธรรมเบียร์เพิ่มเติม ขอเสนอให้ลองไปร่วมงานเทศกาลเบียร์ที่เยอรมนี (Oktoberfest) กันสักครั้งในชีวิต ไว้วันหลังจะเอาบรรยากาศงานเบียร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกมาเล่าให้ฟังค่ะ
ก่อนมาทำงานที่เยอรมนี หลายๆคนต่างเป็นห่วงว่าฉันจะใช้ชีวิตลำบากเพราะเป็นที่รู้กันว่าฉันคออ่อนดื่มแอลกอฮอล์ได้ไม่เยอะ โดยเฉพาะเจ้านายเก่าชาวเยอรมันที่สิงคโปร์ถึงกับตั้งเป้าหมายให้ฉันว่า หลังจากทำงานที่นี่ครบสามปี ฉันต้องมีพัฒนาการด้านปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือด ไม่นานมานี้ฉันมีโอกาสได้เจอกับเจ้านายเก่าคนนั้น ดูเขาจะภูมิใจในตัวฉันมากที่ภายในหนึ่งปี ฉันสามารถดื่มเบียร์ได้เก่งขึ้นกว่าที่เขาคาดคิดและผ่านการฝึกจากเทศกาลงานเบียร์มาแล้วอย่างโชกโชน ถึงแม้จะฟังดูไม่น่าอวด แต่ฉันก็แอบภูมิใจที่ฉันเข้าใจวัฒนธรรมเบียร์มากขึ้นแล้ว
ฉันมีวันอาทิตย์เป็นของตัวเอง
เมื่อย้ายมาอยู่เยอรมนี ระบบเรื่องวันของฉันก็แน่นอนขึ้น จันทร์ถึงศุกร์เป็นวันทำงาน วันหยุดสุดสัปดาห์ถ้าไม่ออกไปเที่ยวไหน (ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะไม่ค่อยอยู่) ก็จะให้วันเสาร์เป็นวันกิจกรรม และวันอาทิตย์เป็นวันพักผ่อน เพราะชีวิตที่นี่ช่างแตกต่างจากตอนอยู่เมืองใหญ่อย่างสิงคโปร์มากนัก ที่สิงคโปร์บรรยากาศคึกคักจนดึกดื่นทุกวันไม่เว้นวันหยุด แต่ที่นี่ ห้างร้านและซุปเปอร์มาร์เกตจะปิดทำการในวันอาทิตย์ (ยกเว้นร้านอาหารบางร้าน) วันเสาร์จึงเป็นวันที่ผู้คนออกไปจับจ่ายใช้สอยหรือทำกิจกรรมในเมือง ส่วนวันอาทิตย์ก็จะกลายเป็นวันครอบครัว สำหรับคนไม่มีครอบครัวอย่างฉัน ก็เลยกลายเป็นมีวันอาทิตย์เป็นของตัวเอง
วันอาทิตย์ที่นี่จึงเป็นวันที่ฉันอยู่ติดบ้านเป็นส่วนใหญ่ พักผ่อน ทำงานบ้าน ในฤดูร้อนหรือวันที่อากาศดีเหมาะกับการออกไปรับแดด ฉันก็จะออกไปสูดอากาศธรรมชาติแทนเครื่องปรับอากาศในห้างอย่างที่เคยทำตอนอยู่เมืองไทยหรือสิงคโปร์ ไม่ต้องใช้เวลาเบียดเสียดผู้คนบนรถไฟฟ้าหรือแย่งที่จอดรถในห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ แต่เฉลิมฉลองวันว่างด้วยการพกเสื่อผืนหมอนใบ หนังสือ เบียร์ ไปนอนอาบแดดในสวนหรือริมน้ำ บางทีก็ออกไปปั่นจักรยาน หรือรวมตัวกับเพื่อนๆจัดบาร์บีคิวในสวนแทน วันอาทิตย์จึงกลายเป็นวันพักอย่างสมบูรณ์
Free body culture
อยู่ที่นี่นอกจากคุ้นชินกับบิกินี่หลากสีในช่วงหน้าร้อนแล้ว ฉันยังเริ่มชินกับประชากรนู้ด (Freikörperkultur หรือ FKK) หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Free body culture ของคนที่นี่ กลุ่มคนเหล่านี้ชื่นชอบการใกล้ชิดธรรมชาติ รวมไปถึงการเปลือยกาย เพราะพวกเขาเชื่อว่า การเปลือยกายไม่ใช่เรื่องน่าอายและไม่ได้มีเรื่องเพศเกี่ยวข้องไปซะหมด ในสวนสาธารณะหรือบริเวณทะเลสาบบางแห่ง จึงมีโซนเล็กๆที่ทุกคนสามารถเปลือยกายได้อย่างอิสระเสรี และไม่ใช่เพียงแค่สถานที่เหล่านี้เท่านั้น เวลาไปใช้บริการซาวน่า สระว่ายน้ำ หรือฟิตเนส ก็จะเห็นคนถอดเสื้อผ้าเปลือยกายกันเป็นปกติ ถึงแม้ฉันจะเริ่มชินกับการเห็นร่างกายคนอื่น แต่ฉันก็ยังคงไม่ชินกับการให้คนอื่นเห็นร่างกายของฉันได้อย่างอิสระอยู่ดี ขออภัยที่ไม่มีรูปภาพประกอบให้เห็นชัดๆ
อนุรักษ์นิยม
ประเทศเยอรมนีนอกจากจะชาตินิยมแล้ว ฉันคิดว่าคนที่นี่ยังมีความอนุรักษ์นิยมสูงมากๆทั้งในเรื่องของภาษา วัฒนธรรม และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม คนที่นี่ถูกปลูกฝังให้ใช้ชีวิตใกล้ชิดกับธรรมชาติตั้งแต่เด็กๆ จึงมีหัวใจรักธรรมชาติและะนิยมชื่นชอบการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ทางรัฐบาลเองก็มีนโยบายและให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก การแยกขยะเป็นเหมือนกฎทางสังคมที่เป็นเรื่องใหญ่ของคนที่นี่และผู้คนก็แยกขยะกันเป็นนิสัย
ทุกบ้านเรือนจะมีถังขยะใบใหญ่อย่างน้อยสี่-ห้าใบสำหรับแยกขยะ ถังสีเขียวสำหรับแก้ว ถังสีดำสำหรับขยะทั่วไป ถังสีเหลืองสำหรับบรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้หรือมีสัญลักษณ์ Green dot ถังสีฟ้าสำหรับกระดาษ และถังสีน้ำตาลสำหรับขยะไบโอที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ถึงแม้ชีวิตจะยุ่งยากขึ้นมาสักนิด แถมยังต้องจ่ายเงินค่าถุงขยะและค่าเก็บขยะ แต่ฉันคิดว่านี่เป็นความยุ่งยากเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับความรับผิดชอบที่มนุษย์เราควรกระทำต่อโลกใบที่เราอาศัยอยู่นี้
นอกจากการแยกขยะ ที่นี่ยังมีระบบการคืนขวดพลาสติก โดยผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ที่ใช้ขวดพลาสติกที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้ จะมีการบวกค่ามัดจำขวดเอาไว้ เมื่อรับประทานหมดผู้บริโภคสามารถนำขวดไปแลกเงินคืนได้ตามตู้แลกคืนในซุปเปอร์มาร์เกต
และในฐานะที่ฉันทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ (Packaging) เนื้องานของฉันที่นี่ก็แตกต่างไปจากเดิมมากเหมือนกัน การคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกวัสดุและระบบการบรรจุให้เหมาะสม ฉันจึงได้ทำงานเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์กระดาษมากขึ้นด้วย เพราะผู้บริโภคในยุโรปส่วนใหญ่จะไม่ชอบพลาสติกหรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการแยกขยะเลยค่ะ คอนเซ็ปต์ Less is more จึงถูกนำมาใช้บ่อยๆ
เงินภาษีฉันไปไหน
ตอนมาทำงานที่นี่ใหม่ๆ ฉันยังทำใจยอมรับอัตราการเสียภาษี 40% ของรายได้ไม่ค่อยได้ แต่ในวันหนึ่งขณะที่กำลังเดินทางไปทำงานโดยรถไฟ กลับทำให้ฉันตระหนักถึงบางอย่าง
การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่นี่ครอบคลุม สะดวก และเป็นมิตรกับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนหนุ่มสาววัยทำงาน เด็กน้อย คนชรา คนพิการ หมา แมว คนขี่จักรยานที่อยากออกมาใช้ชีวิตข้างนอกหรือใช้พื้นที่สาธารณะ แม้มันจะแลกมาด้วยการเสียภาษีในอัตราที่มากไปหน่อยเมื่อเทียบกับบ้านเรา แต่ก็มองเห็นได้เป็นรูปธรรมชัดเจนว่าเงินภาษีที่จ่ายไปได้กลายเป็นประโยชน์แก่ประชาชนจริงๆ รถไฟที่นี่ไม่มีประตูกั้นเช็คตั๋วโดยสาร ไม่ว่าจะเป็นรถไฟ รถใต้ดิน หรือรถราง ทุกคนจะซื่อสัตย์กับการซื้อตั๋วก่อนใช้บริการ หากมีการสุ่มตรวจก็จะถูกปรับในราคาที่สูงมาก (ประมาณ 60 euro) นั่นอาจจะเป็นเหตุผลนึง แต่ฉันเชื่อว่าเพราะคนที่นี่รู้จักหน้าที่ รับผิดชอบต่อสังคม และมีความซื่อสัตย์เป็นพื้นฐาน ระบบแบบนี้จึงดำเนินไปได้ในประเทศแห่งนี้ เพราะไม่ใช่จะมีการตรวจตั๋วในทุกเที่ยว โดยเฉพาะรถไฟในเมืองเล็กๆ
คนเยอรมันไม่ได้กะเกณฑ์การเรียนกับอายุของตัวเอง เรียกว่าพร้อมเมื่อไหร่ก็เรียน ไม่จำเป็นต้องเรียนจบไฮสคูลแล้วเรียนต่อทันที เพราะตอนสอบเข้าเขาวัดกันจากผลงานและแนวคิด ไม่มีการบังคับให้ทุกคนต้องเข้าระบบมหาวิทยาลัย (ยกเว้นสายเฉพาะทางอย่างวิศวกรรม แพทย์ หรือสังคม) ที่นี่มีระบบที่คล้ายๆสายอาชีพแบบบ้านเรา คือให้นักเรียนไปเรียนรู้จากการทำงานจริง อันที่จริงการเรียนของคนเยอรมันเริ่มต้นตั้งแต่ก่อนเข้าโรงเรียน ที่นี่มีกฎหมายอนุญาตให้ลาคลอดและดูแลลูกได้ถึงสองปีไม่ว่าจะเป็นพ่อหรือแม่ (เพื่อนร่วมงานฉันส่วนใหญ่จะลาคลอดกันเป็นปี และมีการสลับกันลาระหว่าพ่อกับแม่อีกสามสี่เดือน) คนที่นี่ถือว่าพ่อแม่มีส่วนสำคัญมากต่อการเรียนรู้ของเด็กก่อนช่วงวัยเรียน แถมยังมีเงินสนับสนุนให้ในยามที่ออกจากงานอีกด้วย
การใช้ชีวิตในต่างแดนไม่ได้มีแต่ด้านสวยงาม และแตกต่างจากชีวิตเด็กนอกที่เรามักเห็นในหนังในละคร ที่ต้องแฮปปี้ ชิคๆ คูลๆดูน่าอิจฉา ชีวิตที่ต้องห่างไกลจากครอบครัวเพื่อนสนิทที่รู้ใจ ชีวิตที่ต้องปฏิสัมพันธ์กับคนใหม่ๆที่ไม่ได้พูดจาภาษาเดียวกัน ชีวิตที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต่างไปจากเดิม ชีวิตที่อยากทานอาหารอร่อยๆหรือฝีมือแม่ แต่ทำได้แค่ต้องเข้าครัวกินเองจนเริ่มชินรสมือตัวเองได้
ชีวิตที่มีความสุข ชีวิตที่มีราคาในสายตาของคนอื่น แท้จริงแล้วไม่มีใครรู้หรอกว่า แต่ละคนต้องแลกมาด้วยอะไรบ้าง ฉันยังคงเชื่อในความเท่าเทียมและสิทธ์ที่ทุกคนจะมีได้เท่าๆกัน แต่สุดท้ายแล้ว สิ่งที่ไม่เท่าคือสิ่งที่ต้องจ่ายหรือแลกมาต่างหาก
แต่ชีวิตไกลบ้านมันก็ไม่ได้ขาวจัดหรือดำจัดแบบนั้น สำหรับฉันมันคือชีวิตที่หม่นๆเทาๆ บางทีก็มีสีสดๆเผลอหยดลงไปบ้างบางจังหวะเพิ่มสีสันให้ชีวิต มันเป็นความท้าทายและสนุกดีที่ถูกล้อมรอบด้วยอะไรที่ไม่คุ้นเคย หรือออกมาจากพื้นที่ปลอดภัย (Comfort zone) ของตัวเองบ้าง
…เพราะชีวิตคือการเรียนรู้…
ฝากติดตามเรื่องเล่าจากเมืองเบียร์ตอนอื่นๆด้วยค่ะ
เมืองน่าเที่ยวรอบทะเลสาบ Bodensee – เมือง Konstanz
เรื่องเล่าจากเมืองเบียร์ A year in Germany
เดินเล่นชมนกริมทะเลสาบ Bodensee – เมือง Kreuzlingen
3 thoughts on “เรื่องเล่าจากเมืองเบียร์ A year in Germany”