ทำไมใครๆชอบเรียกฉันว่า “อินดี้”
เพื่อนๆชอบเรียกฉันว่า…“อินดี้”
อาจเป็นเพราะมีความเป็นตัวของตัวเองสูง เลือกทำในสิ่งที่รักและไม่ชอบทำอะไรที่ตัวเองไม่ชอบ
ฉันชอบความแตกต่าง ไม่ชอบทำอะไรเหมือนคนอื่น แต่ก็ชอบเข้าสังคมและมีเพื่อนเยอะเยอะอยู่ทุกมุมโลก
และอาจเป็นเพราะฉันเดินทางคนเดียวบ่อยๆ หากมีเวลา/โอกาสเป็นใจ และไม่มีเพื่อนร่วมทาง
ทำไมถึงเลือกไปเที่ยว “พม่า”
พม่าที่คนไทยรู้จัก หรือ “เมียนมาร์”ชื่อใหม่อย่างเป็นทางการที่ชาวโลกเรียกขาน เปรียบเสมือนเพื่อนบ้านในคอนโดมิเนียมกลางกรุง ที่ถึงแม้มีกำแพงติดกันแต่ไม่มีโอกาสได้ทักทายหรือทำความรู้จักกันมากนะ อาจเป็นเพราะอุณหภูมิทางการเมืองที่ขึ้นลงของพม่าในอดีต จนกลายเป็นความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัย ทำให้ชาวไทยหลายคนเกรงกลัวไม่กล้าไปเหยียบพม่า และบางคนก็มีอคติกับพม่า ตั้งแต่เหตุการณ์กาลครั้งหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว ที่พม่าเคยยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา มาเผาบ้านเผาเมืองเราจนหมดสิ้น หรือเพราะการมองคนพม่าเป็นเพียงแรงงานต่างด้าว บ้างก็ว่าพม่านั้นล้าหลัง ห่างไกลอารยธรรม ไม่สะดวกสบายอย่างแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังในประเทศอื่นๆ
หลายคนจึงมักถามฉันว่า…
ทำไมถึงชอบพม่า?
ไปเที่ยวพม่าอีกแล้วเหรอ?
พม่ามีดีอะไร ทำไมไปอีกแล้ว?
ฉันมีเหตุผลมากมายที่อยากเดินทางไปพม่า…
อยากไปสักการะมหาพุทธบูชาทั้งห้าในฐานะชาวพุทธ
พม่ามีภูมิประเทศและวัฒนธรรมหลากหลาย ทั้งทะเล ภูเขา ทะเลสาบ วัดวาอาราม ฯลฯ
คนไทยผูกพันกับพม่าทั้งจากการสู้รบในประวัติศาสตร์และในฐานะเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียง
แล้วอย่างนี้ มันจะมีเหตุผลอะไรที่เราจะไม่ลองไปทำความรู้จักกับเพื่อนบ้านของเราให้มากกว่าที่เคยรู้จักจากภาพถ่ายของคนอื่นหรือจากตัวหนังสือในตำรา
เมื่อพม่าเริ่มเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว ฉันจึงไม่ลังเลที่จะเดินทางไปพม่า และได้มีโอกาสเดินทางไปสองครั้งในเวลาสองปีติดต่อกัน ด้วยเหตุผลง่ายๆ เพราะพม่ากำลังเจริญและพัฒนาอย่างรวดเร็ว ฉันอยากเห็นพม่าแบบที่ยังคงความบริสุทธิ์อยู่ ฉันลองเอ่ยปากชวนเพื่อนสาวที่มีระดับความอินดี้ใกล้เคียงกัน พวกเธอก็ใจง่ายตกลงร่วมแบกเป้เดินทางไปกับฉัน การเดินทางสู่เมืองพุทธภูมิจึงเริ่มต้นขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าการเดินทางของพวกเราไม่ธรรมดา เมื่อสามสาวอินดี้มารวมตัวกัน การเดินทางที่มีแผนแค่คร่าวๆ เที่ยวไปตามใจฉัน ไม่ง้อทัวร์ ประหยัดบ้าง เอาสะดวกบ้างคละเคล้ากันไป
และฉันก็เป็นคนที่ไม่ชอบเดินทางแบบเก็บแต้มเช็คอินสถานที่แต่แทบจะไม่รู้อะไรหรือไม่รู้จักผู้คนที่นั่นเลย ฉันชอบเดินทางช้าและใช้เวลารู้จักกับสถานที่นั้นๆ บางครั้งหากติดใจที่ไหนแล้ว ก็สามารถเดินทางกลับไปได้อีกซ้ำๆ จนบางที่เรียกว่ากลายเป็นเพื่อนสนิทกันไปเลยค่ะ
เที่ยวที่ไหนได้บ้างในพม่า
พม่า เป็นประเทศหนึ่งที่มีความร่ำรวยสถานที่น่าสนใจทั้งทางธรรมชาติที่สวยงามและวัฒนธรรม แถมการเดินทางในพม่าก็ไม่ได้น่ากลัวหรือลำบากอย่างที่หลายคนไซโคไว้ ฉันจึงอยากนำเรื่องราวจากการเดินทางที่ฉันเก็บใส่กระเป๋าเดินทางกลับมาเล่าเพื่อเป็นแนวทางและแรงบันดาลใจให้เพื่อนๆได้รู้จักและออกเดินทางไปเรียนรู้พม่าในมุมมองใหม่ๆ เรื่องเล่าฉบับนี้อาจจะไม่ได้เป็นรีวิวแบบไกด์นำเที่ยวสำเร็จรูป เพราะฉันเชื่อว่า หากเราได้นำแรงบันดาลใจนั้นมาปรับแต่งวางแผนและออกเดินไปตามแบบฉบับของตัวเอง จะทำให้การเดินทางครั้งนั้นมีรสชาตและน่าจดจำมากกว่าการเดินตามรอยคนอื่นแบบทุกฝีก้าวค่ะ
นี่เป็นตัวอย่างเส้นทางการเดินทางของฉันทั้งสองครั้ง เพื่อให้เพื่อนๆได้นำไปปรับเปลี่ยนตามความสนใจและระยะเวลาเดินทางที่เหมาะสม
เส้นทางแรกเกิดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ฉันและเพื่อนสาวอีกสองคนเดินทางไปพม่าโดยใช้เวลาประมาณ 6 วันตะลอนไปตามเมืองต่างๆดังนี้ค่ะ
(ฉันเดินทางมาจากสิงคโปร์ ส่วนเพื่อนอีกสองคนเดินทางมาจากกรุงเทพฯ เรามาเจอกันที่ย่างกุ้งค่ะ)
วันที่ 1 เที่ยวรอบเมืองย่างกุ้ง ค้างที่ย่างกุ้ง
วันที่ 2 เที่ยวรอบเมืองพะโค/หงสาวดี นั่งรถบัสข้ามคืนไปเมืองพุกาม
วันที่ 3 เที่ยวพุกาม ค้างเมืองพุกาม (ได้ชมทั้งพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก
วันที่ 4 เที่ยวพุกาม ค้างเมืองพุกาม (ได้ชมทั้งพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก รอบที่สอง)
วันที่ 5 นั่งเครื่องบินภายในประเทศจากพุกามไปเฮโฮ เพื่อเที่ยวชมยองชเวและทะเลสาบอินเล
วันที่ 6 เดินทางกลับย่างกุ้งจากเฮโฮ และเดินทางกลับไทย
ส่วนการเดินทางครั้งที่สอง ฉันและเพื่อนสาวสองคน เดินทางกลับไปเยือนพม่าอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2558 นี้ ช่วงต้นเราเดินทางกันสามคน ถึงกลางทริปเหลือสองคน และสุดท้ายฉันก็เดินทางคนเดียวอยู่สามวัน เป็นเวลาทั้งหมด 9 วัน โดยมีแผนการเดินทางคร่าวๆดังนี้ค่ะ
(ฉันเดินทางมาจากสิงคโปร์ ส่วนเพื่อนอีกสองคนเดินทางมาจากกรุงเทพฯ เรามาเจอกันที่ย่างกุ้งเช่นเคยค่ะ)
วันที่ 1 นั่งรถไฟรอบเมืองย่างกุ้ง
วันที่ 2 เดินทางไปยังพระธาตุอินทร์แขวน เมืองไจ๊ก์โถ
วันที่ 3 ออกจากไจ๊ก์ติโย กลับย่างกุ้ง (เพื่อนหนึ่งคนแยกตัวกลับย่างกุ้งและกลับกรุงเทพฯ) ส่วนจุ๊และเพื่อนอีกคนนั่งรถบัสข้ามคืนไปยังเมืองตองจี
วันที่ 4 เที่ยวเมืองตองจี คั๊คคู และเดินทางไปเมืองกะลอว์
วันที่ 5 เที่ยวตลาดเช้าเมืองกะลอว์ เดินทางไปเมืองพินดายา นั่งรถบัสข้ามคืนจากตองจีไปมัณฑะเลย์
วันที่ 6 เที่ยวมัณฑะเลย์และมิงกุน (เพื่อนแยกตัวกรุงเทพฯโดยบินกลับจากมัณฑะเลย์เลยค่ะ)
วันที่ 7 เที่ยวเมืองอมรปุระ สกาย และอังวะ (เที่ยวคนเดียวแล้ว)
วันที่ 8 เที่ยวเมืองสิเรียมและย่างกุ้ง
วันที่ 9 เดินทางกลับสิงคโปร์
นับว่าสองปีที่ผ่านมาฉันได้ทำความรู้จักทักทายพม่าได้พอสมควร ลัดเลาะซอกแซะไปกว่า 16 เมืองน้อยใหญ่ ถึงอย่างนั้นพม่ายังมีอีกหลายเมืองที่หากมีโอกาสฉันจะไม่พลาดที่จะเดินทางไปหา ไม่ว่าจะเป็นเมืองเก่ามะละแหม่ง หาดงาปาลี เมืองรถม้าพินอูวิน นั่งรถไฟที่สูงที่สุดในอาเซียนไปเมืองสีป่อ ดินแดนสาบสูญมรัคอู หรือเนปิดอว์เมืองหลวงใหม่ของพม่า เมืองเหล่านี้ก็ยังอยู่ใน Bucket list ของฉันอยู่
7 สถานที่ต้องห้ามพลาดในพม่า
ถึงแม้ฉันจะไม่ได้เป็นคนเคร่งครัดศาสนาอย่างใครเขา แต่ฉันก็มีความใฝ่ฝันในฐานะชาวพุทธว่า ครั้งหนึ่งในชีวิตจะต้องสักการะให้ครบ 5 มหาพุทธบูชาสถาน และหลังจากได้ทำความฝันนี้สำเร็จแล้ว ฉันก็อยากจะมายืนยันว่า สถานที่เหล่านี้เป็นสถานที่ต้องห้ามพลาดในพม่า ที่ชาวไทยพุทธต้องไปเยือนเพื่อเป็นมหามงคลแห่งชีวิตค่ะ
มหาบูชาสถานแห่งที่ 1 เจดีย์ชเวดากองแห่งย่างกุ้ง
มหาเจดีย์ชเวดากอง (Shwedagon Pagoda) เป็นเจดีย์คู่บ้านคู่เมืองและศูนย์รวมจิตใจที่ใหญ่ที่สุดพม่า เป็นพระธาตุประจำปีของคนที่เกิดปีมะเมีย คนไทยที่เกิดปีนี้จึงเดินทางมานมัสการเพื่อเป็นมหามงคลแห่งชีวิตค่ะ
มหาบูชาสถานแห่งที่ 2 เจดีย์ชเวสิกองแห่งพุกาม
เจดีย์ชเวสิกอง (Shwezigon Pagoda) เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนพระนลาฏ (หน้าผาก) และพระเขี้ยวแก้ว (พระทันตธาตุ)ของพระพุทธเจ้า สร้างโดยพระเจ้าอนิรุทธ์หรือพระเจ้าอโนรธา มหาราชพระองค์แรกและผู้สร้างความปึกแผ่นของพม่า และนับว่าเป็นเจดีย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในพุกาม
มหาบูชาสถานแห่งที่ 3 พระมหามัยมุนีแห่งมัณฑะเลย์
พระมหามัยมุนี (Mahamuni Buddha) เป็นมหาบูชาสถานเพียงหนึ่งเดียวที่เป็นพระพุทธรูป พระพุทธรูปปางมารวิชัยทรงเครื่องกษัตริย์คู่บ้านคู่เมืองที่ชาวพม่าศรัทธามาก เชื่อว่าท่านมีชีวิตและเทศนาเองได้ โดยมีพิธีล้างพระพักตร์ทุกรุ่งสางสืบเนื่องมากว่า 200 ปี และนับเป็นไฮท์ไลต์ของการมาสักการะพระมหามัยมุนีอีกด้วย
มหาบูชาสถานแห่งที่ 4 เจดีย์ชเวมอว์ดอว์แห่งหงสาวดี
เจดีย์ชเวดอว์มอว์ (Shwemawdaw) หรือที่คนไทยรู้จักในนามพระธาตุมุเตา เป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดในพม่า ภายในบรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าและนับเป็นเจดีย์ที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ เพราะเป็นที่เคารพสักการะของทั้งกษัตริย์มอญ พม่าและไทย เช่น พระเจ้าราชาธิราชแห่งมอญ พระเจ้าบุเรงนองแห่งพม่า และพระนเรศวรมหาราชของไทย
มหาบูชาสถานแห่งที่ 5 พระธาตุอินทร์แขวนแห่งเมืองไจ๊ก์โถ
พระธาตุอินทร์แขวนตั้งอยู่บนยอดเขาแห่งเมืองไจ๊ก์โถ (Kyaiktiyo) ก้อนหินมหัศจรรย์ซึ่งประประดิษฐานองค์พระธาตุอยู่บนนั้น โดยชาวบ้านเชื่อว่าพระอินทร์มาแขวนไว้ จึงได้ชื่อว่า “พระธาตุอินทร์แขวน” ชาวพม่าเชื่อว่าในชีวิตต้องมาสักการะพระธาตุให้ได้ถึงสามครั้ง
นอกจากมหาพุทธบูชาสถานทั้งห้าแล้ว ยังมีสถานที่อีกสองแห่งที่ต้องห้ามพลาดเหมือนกันค่ะ
ที่แรกก็คือ ทะเลเจดีย์ที่เมืองพุกาม บรรยากาศพระอาทิตย์ขึ้นและตกที่นั่นสวยงามและตราตรึงใจที่สุดในชีวิตเลย
สถานที่ๆสองคือ สะพานไม้อูเบ็ง (U bein bridge) แห่งเมืองอมรปุระ สะพานไม้สักที่ยาวที่สุดในโลก ผืนน้ำทะเลสาบตองตะมาน พื้นที่ว่างของท้องฟ้า วิถีชีวิตของผู้คน เป็นบรรยากาศที่ชวนโรแมนติกและน่าหลงใหลมาก
เริ่มต้นการเดินทางสู่พม่า
เมื่อเดินกรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมานี้ ชาวไทยได้รับข่าวดีเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบอนุมัติการจัดทำความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตรา (วีซ่า) สำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาระหว่างไทย-พม่า โดยอนุญาตให้ผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของแต่ละฝ่ายที่เดินทางเข้าประเทศผ่านทางท่าอากาศยานนานาชาติได้รับยกเว้นวีซ่าและพำนักในประเทศผู้รับได้ไม่เกิน 14 วัน นับเป็นการเพิ่มความสะดวกและเพิ่มแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวชาวไทยดินทางไปพม่ามากขึ้นอีกด้วยค่ะ
เมื่อไม่ต้องทำวีซ่าแล้ว ก็เริ่มมองหาตั๋วเครื่องบินไปพม่ากันเลย ซึ่งก็ไม่เป็นปัญหาอะไรเลยค่ะ เพราะตอนนี้พม่ากำลังเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกและกำลังเนื้อหอม ตอนนี้เลยมีหลายสายการบินแข่งกันเปิดเส้นทางสู่พม่านอกจากสายการบินราคาถูกจากไทยแล้ว สายการบินพม่าก็เริ่มมาโกยคนจากไทยไปเที่ยวประเทศของตนมากขึ้นด้วยค่ะ ราคาค่าตั๋วก็ไม่แพงเลย โดยตั๋วโดยสายปกติราคาไปกลับประมาณ 5,000-6,000 บาท (สำหรับสายการบิน low cost) หรือช่วงโปรโมชั่นก็สามารถได้ราคา 2,000-3,000 บาท ก็มีมายั่วยวนบ่อยๆเลยค่ะ
โดยพม่ามีสองท่าอากาศยานนานาชาติที่เราสามารถเลือกบินตรงไปได้เลยค่ะ
Yangon International Airport (RGN) ท่าอากาศยานนานาชาติย่างกุ้ง
เราสามารถเลือกบินได้ถึง 3 สายการบินเลยค่ะ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 15 นาที
สายการบินแอร์เอเชียท่าอากาศยานย่างกุ้ง (Air Asia) มีถึงวันละ 3 เที่ยวบิน
การบินไทย (Thai Airways) มีวันละ 3 เที่ยวบิน เช่นกัน
และสายการบินพม่า (Myanmar Airways) มีวันละ 2 เที่ยวบินค่ะ
Mandalay International Airport (MDL) ท่าอากาศยานนานาชาติมัณฑะเลย์
ตอนนี้มีเฉพาะสายการบินแอร์เอเชียที่บินตรงไปมัณฑะเลย์ วันละ 1 เที่ยวบิน ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง 55 นาทีค่ะ
ถ้าเลือกเดินทางทางตอนใต้ของพม่า ก็ให้เลือกเดินทางไปท่าอากาศยานย่างกุ้ง แต่ถ้าไปทางตอนเหนือของประเทศก็เดินทางไปท่าอากาศยานมัณฑะเลย์ หรือหากเดินทางจากใต้ขึ้นเหนือ หรือจากเหนือลงใต้ ก็สามารถเลือกไปจากย่างกุ้งแล้วกลับจากมัณฑะเลย์ หรือไปจากมัณฑะเลย์แล้วกลับจากย่างกุ้งก็ได้ค่ะ
และพม่าเพิ่งเปิดตัวสนามบินใหม่ล่าสุด คือ ท่าอากาศยานนานาชาตินอว์ปิดอว์ (Naypyidaw International Airport) ซึ่งคาดว่าอีกไม่นานจะมีเที่ยวบินจากเมืองไทยไปลงที่นี่มากขึ้นอีกด้วยค่ะ
จองตั๋วเครื่องบิน จัดกระเป๋า แล้วออกเดินทางกันเลย
เรื่องเงินๆทองๆ
ไปเที่ยวพม่าไม่ต้องเตรียมทองไปนะคะ แค่ตั้งชื่อเรื่องให้สวยๆไปอย่างนั้นเอง แต่เงินที่ต้องเตรียมไปแน่นอน ส่วนจะเตรียมไปเท่าไหร่นั้น…คำถามนี้ตอบยากจังค่ะ เพราะขึ้นกับสถานที่ที่จะไปและจำนวนวันเดินทาง และทุกปีพม่าก็ขึ้นราคาค่าเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวเรื่อยๆ เอาเป็นว่า จะพยายามแทรกรายละเอียดค่าใช้จ่ายในแต่ละหัวข้อนะคะ
สกุลเงินของพม่าคือ จั๊ต (Kyat) ซึ่งมีชื่อเป็นทางการคือ Maynmar Kyat (MMK) โดยป้ายบอกราคาส่วนใหญ่จะเขียนลงท้ายด้วย K หรือ Ks เช่น 8,000Ks ซึ่งเงินของพม่าทั้งหมดจะอยู่ในรูปแบบของธนบัตร ไม่มีเหรียญค่ะ เริ่มตั้งแต่ 1, 5, 10, 20, 50, 100, 200, 500, 1,000, 5,000 และ 10,000
โดยในพม่าเราสามารถใช้เงินได้ 3 สกุลเลย นั่นก็คือ เงินจั๊ต ดอลล่าร์สหรัฐ และเงินบาทไทย โดยเงินจั๊ตก็นำไปใช้กับสินค้าและบริการท้องถิ่นหรือในพื้นที่ๆไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวใหญ่ๆ เช่น ร้านอาหารเล็กๆ ร้านโชห่วย ตลาดสด รถสามล้อ มอเตอร์ไซต์รับจ้างค่ะ ส่วนเงินดอลลาร์สหรัฐก็มักใช้กับสินค้าหรือบริการที่เป็นระดับอินเตอร์หน่อยหรือในสถานที่ท่องเที่ยวใหญ่ๆ เช่น ค่าโรงแรม ค่าเข้าชมสถานที่ ค่าเหมารถแท๊กซี่ ส่วนใหญ่เขาจะบอกราคาทั้งเงินจั๊ตและเงินดอลลาร์ ซึ่งเราก็ต้องคำนวณว่าจ่ายแบบไหนคุ้มหรือสะดวกกว่ากันค่ะ ส่วนเงินไทยนั้น ชาวพม่าก็ยินดีรับในสถานที่ท่องเที่ยวใหญ่ๆค่ะ (โดยจากประสบการณ์ หากค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ เช่นค่าโรงแรมหรือค่าเหมารถ จ่ายเป็นเงินดอลลาร์ถูกกว่าค่ะ ทั้งนี้ก็ขึ้นกับอัตราแลกเปลี่ยนที่แลกมาด้วย)
ดังนั้นในการแลกเงินก็ให้แลกทั้งเงินจั๊ตและเงินดอลลาร์เลย แต่เงินจั๊ตนั้นไม่สามารถแลกจากนอกประเทศได้ เราจึ่งต้องนำเงินไทยไปแลกเป็นเงินดอลล่าร์สหรัฐก่อน แล้วค่อยนำเงินดอลล่าร์ไปแลกเป็นเงินจั๊ตเมื่อเดินทางปถึงพม่าแล้วค่ะ ที่สนามบินในพม่าจะมีเคาร์เตอร์แลกเงินอยู่ค่ะ เมื่อเดินทางไปถึงอาจจะแลกที่สนามบินไว้เพื่อความอุ่นใจสักส่วนหนึ่งก่อน แล้วค่อยไปแลกส่วนที่เหลือในตัวเมืองย่างกุ้ง หรือเมืองท่องเที่ยวค่ะ ค่อยๆทยอยแลกก็ได้ เพราะถ้าเหลือเยอะ เวลาแลกคืนจะขาดทุนนะคะ
ข้อควรระวังในการแลกเงินในพม่าก็คือ เขาจะรับแลกเฉพาะธนบัตรที่ใหม่เอี่ยมอ่อง ไม่มีรอยยับรอยพับขีดข่วนรอยขาดใดๆทั้งสิ้น ในขณะที่ธนบัตรเงินจั๊ตของเขานี่เปื่อยเละมากค่ะ ดังนั้นเงินที่เตรียมไปแลกต้องระมัดระวังดูแลทะนุถนอมนิดนึงค่ะ และเวลาได้รับเงินทอนก็ต้องต่อรองขอรับธนบัตรที่อยู่ในสภาพดี (เรื่องมากกลับบ้างค่ะ อิอิ)
การเดินทางระหว่างเมืองในพม่า
การเดินทางระหว่างเมืองในพม่าก็จะมีระบบการขนส่งคล้ายๆไทยค่ะ คือ มีเครื่องบิน รถบัส/รถทัวร์ และรถไฟ ซึ่งสามารถเลือกใช้บริการได้ตามปจจัยของเงินในกระเป๋า ระยะเวลาในการเดินทาง และประสบการณ์ที่จะได้รับ ถ้าอยากเดินทางให้อินดี้ก็ลองให้ครบทุกรูปแบบเลยค่ะ ผสมผสานกัน สนุกดีนะ
การเดินทางโดยเครื่องบินภายในประเทศ
หากมีเวลาน้อย ต้องการความสะดวกสบาย ไม่ชอบนั่งรถนาน และพอมีงบประมาณ ก็ลองเลือกนั่งครื่องบินค่ะ ซึ่งการเดินทางโดยเครื่องบินในพม่านี่สนุกตั้งแต่จองตั๋วเครื่องบินเลย ต้องจองล่วงหน้านานหน่อยเพราะพม่ายังมีเที่ยวบินน้อย ราคาค่อนข้างสูง (อาจจะแพงกว่าราคาตั๋วเครื่องบินจากไทยอีกค่ะ) เว็บไซต์ของสายการบินก็ไม่ได้เข้าใจง่ายๆ แถมยังเปลี่ยนเวลาเดินทางบ่อยๆ แต่ถ้าต้องการความสะดวกก็อาจจะใช้บริการเอเจนซี่จัดการให้ แต่ถ้ามีงบน้อยก็ต้องจัดการเอง ยุ่งยากหน่อยค่ะ
สายการบินภายในประเทศของพม่าก็มีหลายสายการบินหลายเส้นทาง ลองเข้าไปดูรายละเอียดได้ค่ะ
Air Bagan: www.airbagan.com
Air Mandalay: www.airmandalay.com
Yangon Airways: www.yangonair.com
Air KBZ: www.airkbz.com
Asian Wings Airways: www.asianwingsair.com
Air Myanmar: www.airmyanmar.com
Golden Myanmar Airlines: www.gmairlines.com
ถึงแม้การเดินทางโดยเครื่องบินในพม่าจะยุ่งยาก แต่รับรองว่าจะได้รับประสบการณ์ใหม่ๆที่ไม่สามารถมีได้อีกแล้วจากที่ใดในโลกนี้ ไว้จะมาเล่าให้ฟังอีกทีในการเดินทางแต่ละเมืองค่ะ ซึ่งฉันเคยใช้บริการของ Air Mandalay จากพุกามไปเฮโฮ (ทะเลสาบอินเล) และจากเฮโฮกลับย่างกุ้ง และ Goldem Myanmar Airlines จากมัณฑะเลย์กลับมาย่างกุ้งค่ะ สนุกสนาน เฮฮาและแทบจะร้องไห้โฮ
เส้นทางบินภายในประเทศของพม่า ข้อมูลจาก www.skyscrapercity.com
ราคาค่าตั๋วเครื่องบินและระยะเวลาเดินทางโดยประมาณ
การเดินทางโดยรถทัวร์หรือรถบัส
การเดินทางโดยรถบัสในพม่าสะดวกกว่าที่คิดไว้เยอะเลยค่ะ ตอนนี้รถบัสระหว่างเมืองในพม่าได้ได้มีการปรับปรุงคุณภาพดูดีไฮโซเทียบเท่ามาตรฐานรถทัวร์ทั่วไปเลยค่ะ มีหมอนรองคอ ผ้าห่ม น้ำดื่ม ขนม แอร์เย็น สะอาด ถนนหนทางก็เรียบไม่ขรุขระ รถบัสระยะไกลมีจุดจอดพักรถระหว่างทาง การเดินทางโดยรถบัสจึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการประหยัดงบ (ค้างคืนบนรถ ประหยัดค่าที่พัก) และมีความอึด นั่งได้ยาว นอนได้ทุกสภาพ
ซึ่งฉันเคยใช้บริการหลายเส้นทางเลย เช่น ย่างกุ้ง-ไจ๊ก์โถ(พระธาตุอินทร์แขวน) ย่างกุ้ง-พุกาม ย่างกุ้ง-ตองจี ตองจี-มัณฑะเลย์ โดยภาพรวมประทับใจการเดินทางโดยรถบัสในพม่าค่ะ โดยการซื้อตั๋วนั้นสามารถไปซื้อก่อนเวลาเดินทางสัก 1-2 ชั่วโมงก็ได้ สำหรับเส้นทางสั้นๆ แต่เส้นทางยาวๆแนะนำให้จองล่วงหน้าค่ะ โดยการจองผ่านเว็บไซต์หรือผ่านทางเอเจนซี่
โดยบริษัทที่ฉันนิยมใช้บริการคือ Shwe Mandalar Express และ Green Myanmar เพราะสามารถจองตั๋วออนไลน์แล้วไปรับตั๋วทีสถานีขนส่งกาอนเดินทางได้เลย มีเว็บไซต์เป็นภาษาอังกฤษ รถสภาพดี สะอาด ขับขี่ปลอดภัย บริการดี มีหลายเส้นทางให้เลือก เข้าไปดูรายละเอียดได้ตามลิงค์ของบริษัทเลยค่ะ
ราคาและระยะเวลาเดินทางโดยรถบัสระหว่างเมืองโดยประมาณ
* หากราคาเกินกว่า 18,000 จั๊ตมักจะเป็นรถ VIP ค่ะ
การเดินทางระหว่างเมืองโดยรถไฟ
เนื่องจากฉันยังไม่เคยลองใช้บริการของการรถไฟพม่าในการเดินทางระหว่างเมืองเลย เคยแต่นั่งรถไฟเที่ยวรอบเมืองย่างกุ้ง จึงขอไม่กล่าวถึงรายละเอียดส่วนนี้มากนัก ไว้โอกาสหน้าถ้าฉันมีโอกาสได้เดินทางกลับไปเยือนพม่าอีกครั้ง น่าจะมีเรื่องเล่าจากรางรถไฟในพม่ามาให้เล่ามากขึ้น เพราะอยากลองเดินทางไปเมืองทางเหนือโดยรถไฟดูเหมือนกันค่ะ เพราะมีความเชื่อว่า การเดินทางโดยรถไฟไม่ว่าจะในประเทศไหนก็จะมีเสน่ห์ตามแบบฉบับรถไฟ
จากการศึกษารายละเอียดมาคร่าวๆ พบว่าที่พม่ามีตู้รถไฟให้เลือกหลายแบบแล้วแต่เส้นทาง
Ordinary class หรือตู้ธรรมดา ก็จะคล้ายรถไฟชั้น 3 บ้านเราค่ะ เป็นเก้าอี้ไม้ เหมาะกับการเดินทางสั้นๆ เช่น ย่างกุ้ง-พะโค
Upper class หรือตู้พิเศษ ซึ่งจะมีที่นั่งเป็นเก้าอี้เบาะแยกเป็นตัวๆ ปรับเอนได้นิดหน่อย หากใช้เดินทางแบบข้ามคืนก็น่าจะเหนื่อยเหมือนกัน
Upper class sleeper หรือตู้นอนพิเศษ เหมาะสำหรับระยะทางไกลๆ เช่น ย่างกุ้ง (Yangon) – มัณฑะเลย์(Mandalay)
การเดินทางในเมืองต่างๆของพม่า
ระบบขนส่งมวลชนในพม่ายังไม่ได้รับการพัฒนามากนัก การเลือกเดินทางในแต่ละเมืองจึงมีความสำคัญเพราะมีผลต่อเวลาและความสะดวกในการเดินทางค่ะ แต่ละเมืองก็จะแตกต่างกันไป ขอแนะนำทางเลือกคร่าวๆไว้ประกอบการตัดสินใจดังนี้ค่ะ
แท๊กซี่ (Taxi)
แทบทุกเมืองในพม่าจะมีรถแท๊กซี่ให้บริการ แต่รถแท๊กซี่ในพม่าไม่มีมิเตอร์ ใช้ระบบต่อรองราคากัน ซึ่งสามารถใช้บริการภายในพื้นที่ของเมืองนั้นๆ หรือเช่าเหมาไปยังเมืองใกล้เคียงได้ด้วยค่ะ เช่น จากย่างกุ้ง ก็สามารถเหมาเช่าไปพะโค หรือสิเรียมได้ จากมัณฑะเลย์ ก็สามารถเหมาเช่าไปมิงกุน สกาย อังวะ อมรปุระได้ จากตองจีก็สามารถเหมาเช่าไปคั๊คคู ยองชเว กะลอว์ พินดายาได้ ซึ่งนับว่าเป็นทางเลือกที่ค่อนข้างสะดวกเลยค่ะ เพราะสามารถเดินทางไปได้หลายสถานที่ในเมืองนั้นๆ แถมยังได้คนขับรถเป็นไกด์ไปในตัวด้วย ซึ่งคนขับรถแท๊กซี่ในพม่าก็สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ตั้งแต่ระดับพอคุยกันรู้เรื่องไปจนถึงระดับดีมากเลยค่ะ สภาพรถส่วนใหญ่จะเป็นรถเก่าและไม่ค่อยมีแอร์ (หรือมีแต่คนขับก็ชอบเปิดหน้าต่างมากกว่าอยู่ดี) ซึ่งก็ต้องเลือกให้ดีค่ะ เพราะที่พม่าฝุ่นจะเยอะและร้อนมาก ถ้าเป็นไปได้ให้เลือกรถที่สภาาพดีและคนขับพูดภาษาอังกฤษได้ดี ซึ่งหากให้ทางโรงแรมช่วยหาให้ก็ค่อนข้างจะได้มาตรฐานแต่อาจจะโดนค่านายหน้าบ้างนิดหน่อย แต่ถ้าเริ่มต้นจากสนามบินหรือสถานีขนส่งตัวเลือกของรถใหม่ก็อาจจะน้อยลง ต้องทำใจกับสภาพรถนิดนึงค่ะ ถ้าหากมีเวลาน้อย ต้องการเที่ยวได้ทั่วๆ และเที่ยวแบบตามใจฉัน อยากไปไหนก็ไป มีเพื่อนร่วมทางสัก 2-3 คน การเดินทางเหมาเช่าแท๊กซี่แบบรายวันก็คุ้มค่าและสะดวกดีค่ะ (รายละเอียดราคาจะขอยกตัวอย่างในเรื่องเล่าของแต่ละเมืงอีกทีนะคะ)
ขอแนะนำแท๊กซี่ที่มัณฑะเลย์ค่ะ คนขับพูดภาษาอังกฤษเก่ง อัธยาศัยดี และรถใหม่ดีค่ะ ประทับใจคนนี้เลยอยากบอกต่อ
ชื่อ Tay Zar Lin เบอร์ติดต่อ 09-43159317 อีเมลล์ kotazarlin@gmail.com
รถเมล์ (City bus)
ในการเดินทางครั้งนี้ฉันยังไม่มีโอกาสได้ลองใช้บริการรถเมล์ในพม่าเลยค่ะ แต่เท่าที่เห็นในย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ รถเมล์ที่นี่ค่อนข้างเก่าและเป็นระบบแอร์ธรรมชาติ หรือไม่มีปรับอากาศนั่นเอง ปัญหาหลักของการเดินทางโดยรถเมล์คือความแน่น รถติด และสื่อสารลำบากค่ะ เพราะไม่มีทุกอย่างเป็นภาษาพม่าและผู้คนที่ใช้บริการก็คงพูดภาษาอังกฤษได้น้อย แต่ถ้าอยากมีประสบการณ์สนุกแบบโหด มันส์ ฮา ลองดูสักครั้งก็น่าสนใจดีนะ
รถสองแถว (Pick up truck) และสามล้อเครื่อง (Three-wheel truck)
หน้าตาคล้ายรถสองแถวบ้านเราค่ะ แต่จำนวนผู้โดยสารอัดแน่นกว่าบ้านเรานัก และบางเมืองจะมีแบบที่หัวรถเป็นมอเตอร์ไซต์ด้วย (คล้ายรถตุ๊กตุ๊กบ้านเรา) ซึ่งรถแบบนี้ใช้วิ่งระหว่างเมืองใกล้ๆด้วยค่ะ แต่ส่วนใหญ่จะมีเฉพาะชาวบ้านที่ใช้บริการ
สามล้อถีบ (Trishaw/Saiq-ka)
รถสามล้อเป็นพาหนะแบบชาวบ้านขนานแท้ โดยจะเห็นมากตามตลาดสดแทบทุกเมืองค่ะ แต่ที่ย่างกุ้งนี่จะมีรถสามล้อบริการปั่นกันบนถนนแข่งกับรถใหญ่ท่มกลางมลพิษเลยค่ะ รถแบบนี้ชาวพม่าเรียกว่า ไซกะ (Saiq-ka) ซึ่งเพี้ยนมาจากคำว่า Side car สามารถนั่งได้สองคน คนหนึ่งนั่งหันหน้าด้านข้างคนขี่ ส่วนอีกคนนั่งหันหลัง
รถม้า (House Cart) และเกวียน
รถม้าและยังเป็นเกวียนที่ใช้วัวลากยังคงใช้งานอยู่ตามชนบทของพม่า และในเมืองเก่าที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ เช่น เมืองพุกาม มิงกุน อังวะ ก็ได้นำพาหนะนี้มาเป็นจุดขายในการให้บริการนักท่องเที่ยวด้วย ว่ากันว่าเมืองแห่งรถม้าสุดคลาสสิคคือเมืองพิน อู วิน ซึ่งยังไม่มีโอกาสได้เดินทางไปเยือนเลย ไว้คราวหน้านะ
มอเตอร์ไซต์รับจ้าง (Motorbike)
ชาวย่างกุ้งไม่ได้รับอนุญาตให้ขับขี่รถมอเตอร์ไซต์ แต่ในเมืองอื่นๆชาวบ้านก็นิยมใช้มอเตอร์ไซต์กันทั้งนั้นค่ะ บางคนก็ผันตัวเองเป็นมอเตอร์ไซต์รับจ้าง แต่ไม่มีเสื้อวินแบบบ้านเรา ยังคงนุ่งโสร่งแบบชาวบ้านทั่วไป แต่เราสามารถสังเกตได้จากการจุดที่มีรถมอเตอร์ไซต์จอดอยู่รวมกันหลายๆคน ฉันเคยลองใช้บริการในมัณฑะเลย์แต่เสียดายไม่ได้ถ่ายภาพเก็บไว้เลย
จักรยาน (Bicycle)
ในหลายๆเมือง เช่น พุกาม และมัณฑะเลย์ จะมีจักรยานให้เช่าหรือมีจักรยานให้ยืมฟรี เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการท่องเที่ยวด้วยตัวเองและลัดเลาะไปตามซอกซอยต่างๆ
ได้รู้จักพม่าและการเตรียมตัวก่อนเดินทางไปพม่ากันคร่าวๆแล้ว ตอนต่อไปจะเปิดกระเป๋าเล่าเรื่องจากการเดินทางของแต่ละเมืองให้ฟังแบบละเอียดๆกันเลยค่ะ ฝากติดตามกันด้วยนะคะ
ติดตามอ่านเรื่องราวการเดินทางในพม่าตอนอื่นๆได้ตามลิงค์นี้ค่ะ
ตอนที่ 1 เมื่ออินดี้หนีเที่ยวพม่า
ตอนที่ 2 ลัดเลาะซอกแซกเมืองย่างกุ้ง
ตอนที่ 3 เที่ยวอย่างอินดี้…นั่งรถไฟรอบเมืองย่างกุ้ง
ตอนที่ 4 มหัศจรรย์แห่งศรัทธา…พระธาตุอินทร์แขวน
Facebook Page: https://www.facebook.com/TalesFromTheBackpack
Instagram: https://instagram.com/talesfromthebackpack/
ภาพสวยจังค่ะ…รายละเอียดแบบว่า อ่านแล้ไปถูกเลย
LikeLike
ขอบคุณมากนะคะ แล้วจะรีบมาเล่าต่อให้จบครบทุกเมืองค่ะ
LikeLike
เข้ามาให้กำลังใจค่ะ ขอบคุณสำหรับความรู้ที่ช่วยเปิดโลกที่ยังไม่ค่อยรู้จักให้ดูมีมิติขึ้นนะคะ^^
LikeLike
ขอบคุณมากนะคะ ดีใจที่เป็นประโยชน์และมีคนชื่นชอบค่ะ
LikeLike
เรื่องดี รูปสวย ชอบค่ะ
LikeLike
ขอบคุณมากนะคะ พรุ่งนี้จะมีเรื่องเล่าจากย่างกุ้งให้ได้อ่านกันค่ะ 🙂
LikeLiked by 1 person
ภาพสวยจังค่ะ พอดีกำลังจะไปพม่าตุลานี้เลยมาเก็บข้อมูลค่ะ. สอบถามหน่อยนะคะว่าถ้าเราจะนั่งบัสไปกลับจากย่างกุ้งไปเที่ยวBagoจะสะดวกมั๊ยหรือเช่าแท็กซี่ให้เค้าพาเที่ยวจะดีกว่าคะ ขอบคุณค่ะ
LikeLike
นั่งรถบัสไปก็ได้ค่ะ แต่อาจจะเสียเวลาเพราะรถหวานเย็นมาก และไปถึงอาจต้องเหมารถเที่ยวอีกที ถ้าจะเที่ยวให้คุ้มเหมารถดีกว่าค่ะ จุ๊เคยเหมาจากย่างกุ้ง 60USD หารกับเพื่อนอีกสองคน เที่ยวได้ทั่วเลย เดี๋ยวจะเขียนเรื่องบาโกให้นะคะ แต่ไม่รู้จะทันตุลาหรือเปล่า ช่วงนี้งานเยอะเดินทางหนักมากค่ะ
LikeLike
ขอบคุณค่ะ มีเวลาไม่เยอะ เหมารถเที่ยวก็ประหยัดเวลาดี เดี๋ยวจะเข้ามาอ่านใหม่ค่ะ เผื่อทันก่อนเราไปเที่ยว
LikeLike
อยากได้ข้อมูลอะไรสอบถามได้ตลอดนะคะ
LikeLike